Crypto Fear and Greed Index คืออะไร?
Crypto Fear and Greed Index ถูกคิดค้นขึ้นโดยสำนักข่าวอย่าง CNN เพื่อใช้วัดสภาพตลาดของดัชนี S&P 500 เป็นเครื่องมือแสดงอารมณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงระดับ “ความกลัว” และ “ความโลภ” ของนักลงทุนและตลาด ภายหลังได้รับความนิยมและถูกนำไปใช้กับตลาดการลงทุนหลายแห่ง รวมไปถึงตลาดคริปโตเคอร์เรนซีเช่นกัน
ซึ่งดัชนีวัดความกลัวและความโลภในตลาดคริปโต จะมีค่าความกลัวและความโลภอยู่ระหว่าง 0-100 แบ่งเป็นระดับได้ดังนี้
- 0-25 (Extreme Fear) หมายถึง สภาวะที่นักลงทุนหรือตลาดมีความกลัวขั้นสุด
- 26-49 (Fear) หมายถึง สภาวะที่นักลงทุนหรือตลาดยังมีความกลัวอยู่
- 50 (Neutral) หมายถึง สภาวะที่นักลงทุนหรือตลาดอยู่ในเกณฑ์ปกติ
- 51-74 (Greed) หมายถึง สภาวะที่นักลงทุนหรือตลาดมีความโลภ
- 75-100 (Extreme Greed) หมายถึง สภาวะที่นักลงทุนหรือตลาดมีความโลภขั้นสุด
ระดับเหล่านี้สามารถสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของนักเทรดและสภาพตลาดได้เป็นอย่างดี
ช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจในการซื้อขายอย่างมีประสิทธิภาพได้มากขึ้น
Crypto Fear and Greed Index วัดจากอะไร?
การคำนวณดัชนีความกลัวและความโลภ จะวัดจาก Bitcoin เพียงตัวเดียวเท่านั้น ซึ่งมี 6 ปัจจัยในการคำนวณ ดังนี้
1. ความผันผวน (Volatility) 25%
หากราคามีความผันผวนมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้เข็มชี้วัดวิ่งเข้าสู่ระดับความกลัว (Fear) และความกลัวขั้นสุด (Extreme Fear) มากขึ้นเท่านั้น บ่งบอกถึงความกังวลของตลาด โดยคำนวณจากความผันผวนในอดีต 30 และ 90 วัน
2. โมเมนตั้มและวอลุ่ม (Market Momentum and Volume) 25%
หากมีปริมาณการซื้อขายมากเท่าไหร ก็จะยิ่งทำให้เข็มชี้วัดวิ่งเข้าสู่ระดับความโลภ (Greed) และความโลภขั้นสุด (Extreme Greed) มากขึ้นเท่านั้น บ่งบอกถึงความนิยมในตลาด โดยคำนวณจากความผันผวนในอดีต 30 วันและ 90 วัน
3. โซเชียลมีเดีย (Social Media) 15%
ปัจจัยนี้จะอาศัยการเก็บข้อมูลจาก Twitter ในการพูดถึง Bitcoin เมื่อมีความสนใจและการกล่าวถึง Bitcoin มากขึ้น ค่าความโลภ (Greed) ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นแสดงให้เห็นถึงกระแสที่มาแรง
4. ผลสำรวจ (Survey) 15%
เป็นการร่วมมือกับ Strawpoll.com ทำแบบสำรวจสอบถามไปยังนักเทรดและบุคคลทั่วไปในรอบสัปดาห์ แต่ปัจจุบันปัจจัยที่นำมาใช้ในการคำนวณนี้ถูกระงับชั่วคราวเนื่องจากไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
5. ส่วนแบ่งตลาด (Dominance) 10%
เมื่อส่วนแบ่งตลาดของ Bitcoin เพิ่มขึ้น ความเป็นไปได้ที่สภาพตลาดจะเข้าสู่ระดับความกลัว (Fear) ก็จะมีมากขึ้น และเมื่อส่วนแบ่งตลาดของ Bitcoin ลดลง ความเป็นไปได้ที่สภาพตลาดจะเข้าสู่ระดับความโลภ (Greed) ก็จะมีมากขึ้น
6. เทรนด์ (Trend) 10%
อาศัยข้อมูลจาก Google สำหรับคำค้นหาที่เกี่ยวข้อง ยิ่งมีการค้นหาที่เกี่ยวข้องมากเท่าไหร่ ยิ่งนำไปสู่ระดับความโลภ (Greed) มากเท่านั้น
Extreme Greed ให้ขาย Extreme Fear ให้ซื้อ จริงหรือไม่?
ในปีนี้ที่เป็นปีทองของตลาดคริปโต ดัชนีชี้วัดความกลัวและความโลภได้พุ่งแตะจุดสูงสุดที่ระดับความโลภขั้นสุด (Extreme Greed) อยู่หลายครั้งและพุ่งแตะจุดต่ำสุดที่ระดับความกลัวขั้นสุด (Extreme Fear) อยู่หลายครั้งอีกเช่นกัน
อ้างอิงกราฟจาก Alternative.me จะพบว่าช่วงต้นปีในไตรมาสที่ 1-2 เป็นช่วงที่นักลงทุนและตลาดอยู่ในระดับความโลภขั้นสุด (Extreme Greed) จากการพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงของราคา Bitcoin ในขณะนั้นแตะจุดสูงสุดตลอดกาลที่ระดับ $64,000 และหลังจากการปรับฐานครั้งใหญ่ในเดือนพฤษภาคม ทำให้ดัชนีชี้วัดร่วงแตะระดับความกลัวขั้นสุด (Extreme Fear) ซึ่งราคา Bitcoin อยู่ที่ระดับ $30,000
หากใช้แนวคิด “Extreme Greed ให้ขาย Extreme Fear ให้ซื้อ” เราก็จะเห็นได้ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะป้องกันอาการบาดเจ็บของนักลงทุน ซึ่งแนวคิดนี้เป็นการขายในช่วงที่นักลงทุนทั่วโลกและตลาดกำลังมีความโลภจากการทำกำไรของ Bitcoin และค่อยกลับมาซื้อใหม่ในช่วงที่นักลงทุนและตลาดเกิดความกลัว
หากนักลงทุนเข้าซื้อ Bitcoin ในช่วงที่ดัชนีชี้ให้เห็นถึงความกลัวที่ระดับ Extreme Fear ซึ่งราคา Bitcoin อยู่ที่ราว $30,000 – $35,000 เมื่อเดือนก่อน จะทำให้ปัจจุบันนักลงทุนอาจมีกำไรจากการเข้าซื้อครั้งนั้นเกือบ 40% เลยทีเดียว แม้ดัชนีในปัจจุบันจะอยู่แค่ในระดับ Greed ก็ตาม
สรุป
นี่อาจเป็นแนวทางง่าย ๆ สำหรับการคาดการณ์และประเมินสถานการณ์ตลาดคริปโต โดยทั่วไปแล้วเมื่อดัชนีความกลัวและความโลภเข้าสู่พื้นที่ความกลัวขั้นสุด (Extreme Fear) อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโอกาสในการเข้าซื้อ และเมื่อดัชนีเข้าสู่พื้นที่ความโลภขั้นสุด (Extreme Greed) อาจเป็นสัญญาณในการขายเพื่อป้องกันการสูญเสียกำไรจากการร่วงลงของราคาสินทรัพย์
สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความกลัวของนักลงทุนที่แห่เทขายสินทรัพย์ แต่ในอีกมุมหนึ่งอาจเป็นช่วงเวลาที่ใครอีกหลายคนมองเห็นเป็นโอกาสและเข้าซื้อสินทรัพย์เหล่านั้น ดังคำกล่าวที่นักลงทุนระดับตำนาน Warren Buffet กล่าวไว้ว่า “Be Fearful When Others are Greedy and Greedy When Others are Fearful” จงกลัวในวันที่คนอื่นโลภ และจงโลภในวันที่คนอื่นกลัว
อย่างไรก็ตาม ดัชนีความกลัวและความโลภ เป็นเพียงเครื่องมือประกอบการตัดสินใจที่แสดงให้เห็นถึงสภาพความกลัวและความโลภของนักลงทุนและตลาดเท่านั้น มิได้รับประกันถึงความปลอดภัยในการลงทุน นักลงทุนควรใช้วิจารณญานและศึกษาทำความเข้าใจปัจจัยอื่น ๆ ประกอบการตัดสินใจ
———————————————————————————————————————————————————————————————
อ่านบทความเพิ่มเติม: GoTradeHere