เชื่อว่านักลงทุนหุ้นหลายท่านต้องเคยเห็นคำว่า PE Ratio กันมาบ้าง สำหรับ PE Ratio ถือเป็นอัตราส่วนทางการเงินที่ช่วยใหันักลงทุนหุ้นสามารถคัดเลือกหุ้นได้ตรงตามความต้องการของตัวนักลงทุนได้มากยิ่งขึ้น นอกจากจะรู้ถึงความคุ้มค่าในหุ้นตัวดังกล่าวหรือราคาหุ้นแพงไปหรือถูกเกินไปหรือไม่อีกด้วย ในวันนี้ทีมงาน Gotradehere จะพานักลงทุนหุ้นไปรู้จักกับ PE Ratio คืออะไร? อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องรู้ก่อนเลือกซื้อหุ้น ติดตามได้ในบทความนี้เลยครับ
———————————— 🐣 ————————————
PE Ratio คืออะไร ?
PE Ratio (Price to Earnings Ratio) หรือ P/E Ratio คือ อัตราส่วนทางการเงินที่เป็นการเปรียบเทียบระหว่าง ราคาหุ้นต่อหุ้น (Price) เทียบกับ กำไรต่อหุ้น (EPS) ซึ่งค่า PE จะช่วยให้นักลงทุนทราบว่า “ถ้าเราซื้อหุ้นในราคานี้ ณ ตอนนี้ เราจะได้รับผลตอบแทนคืนทุนในอีกกี่ปี เมื่อบริษัทยังคงทำกำไรตอบแทนได้เท่าเดิมในทุก ๆ ปี”
สูตรการคำนวณ PE Ratio
ราคาต่อหุ้น (Price per share) คือ ราคาที่นักลงทุนต้องจ่ายเพื่อซื้อหุ้นตัวนั้น ๆ
กำไรต่อหุ้น (Earning per share) คือ จำนวนกำไรสุทธิที่บริษัทสามารถทำได้และแบ่งเฉลี่ยให้กับหุ้นสามัญแต่ละหุ้นโดยกำไรต่อหุ้นสามารถคำนวณได้จาก
กำไรต่อหุ้น EPS (Earning per share) = กำไรสุทธิ/จำนวนหุ้นสามัญ
ยกตัวอย่างเช่น หุ้น A ราคา 10 บาท มีกำไรต่อหุ้น 1 บาท ดังนั้น P/E เท่ากับ 10 เท่า หรือเราจะได้ทุน 10 บาทคืนเมื่อ ถือหุ้น A ครบ 10 ปี นี่คือแนวคิดเบื้องต้นที่ทำให้คิดได้ว่า โดยปกติแล้วเราควรซื้อหุ้นที่ P/E ต่ำ ๆ และขายหุ้น P/E สูงออกไป แต่ใช่ว่าการซื้อ P/E ต่ำจะดีเสมอไป เพราะบริษัทสามารถเติบโตได้ครับ เนื่องจาก P/E ที่เห็นนั้นคืออดีต ดังนั้นหากคิดด้วยหลักเหตุผล สิ่งที่ทำให้คนซื้อเข้าไป คือความคาดหวัง คิดว่าธุรกิจจะมีกำไรปีละ 20 30% จนปีถัด ๆ ไป
การตีความค่า PE Ratio
ค่า PE Ratio สูง หมายถึง ราคาหุ้นถือว่าแพงเมื่อเทียบกับกำไรสุทธิของบริษัท ตลาดโดยรวมมีความคาดหวังสูงว่ากำไรของบริษัทจะเติบโตสูงในอนาคต
ค่า PE Patio ต่ำ หมายถึง ราคาหุ้นถือว่าถูกเมื่อเทียบกับกำไรสุทธิของบริษัท ตลาดโดยรวมมีความคาดหวังสูงว่ากำไรของบริษัทจะเติบโตคงที่หรือลดลงในอนาคต
แต่อย่างไรก็ตามค่า PE Ratio สูงหรือต่ำไม่ได้กำหนดเสมอไปว่าหุ้นราคาถูกหรือราคาแพง เนื่องจากปัจจัยที่ส่งผลต่อค่า PE อย่างราคาหุ้น ณ ช่วงเวลานั้นกำลังลดลง นอกจากนี้กำไรของหุ้นหดตัวลงเช่นกัน ส่งผลให้ค่า PE ต่ำ แต่ไม่ได้หมายความว่าราคาหุ้นถูกลงครับ ดังนั้นแล้วนักลงทุนอาจนำปัจจัยในเรื่องของอุตสาหกรรม, ขนาดบริษัท, อัตราการเติบโต หรือสภาวะเศรษฐกิจมาวิเคราะห์ร่วมกับค่า PE ครับ
PE Ratio วิเคราะห์อะไรได้บ้าง? และมีข้อจำกัดอะไรบ้าง?
PE Ratio วิเคราะห์อะไรได้บ้าง
- ใช้ในการเปรียบเทียบมูลค่าหุ้นของบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน
- ใช้ประเมินศักยภาพการเติบโตของบริษัท
- ช่วยตัดสินใจว่าจะซื้อหรือขายหุ้นของบริษัท
- ช่วยวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุนหุ้นแต่ละตัว
- ช่วยวิเคราะห์เปรียบเทียบความถูกหรือแพงของหุ้นแต่ละตัว
ข้อจำกัดในการใช้ PE Ratio
- ไม่ได้สะท้อนถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น สภาพคล่อง และ ความเสี่ยง เป็นต้น
- ค่า P/E คำนวณจากกำไรสุทธิย้อนหลัง ไม่ได้บอกแนวโน้มของกำไรสุทธิในอนาคต
- ใช้เพื่อเปรียบเทียบกับหุ้นในอุตสาหกรรมเดียวเท่านั้น เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของการวิเคราะห์
การแบ่งหุ้นตามลักษณะค่า PE Ratio
1) หุ้นมูลค่า (Value Stocks)
หุ้นมูลค่า เป็นหุ้นที่มีทรัพย์สิน ราคาต่ำกว่าความเป็นจริง หรือหุ้นที่ดูมูลค่าได้นั่นเอง แต่บางครั้งราคาก็ไม่ได้สะท้อนตาม value จริง ๆ เสมอไป อาจจะมีช่วงที่ราคาต่ำกว่าความเป็นจริงหรือสูงกว่าความเป็นจริงจากความไม่สมเหตุสมผลของคนนั่นเอง ตลาดมักจะมองว่ากลุ่ม value มี P/E ที่ไม่สูงจะมีค่า P/E ที่ไม่สูงมากอาจจะ 10x 20x แต่จริงๆแล้วก็คือมี EPS growth ที่ไม่สูงนัก
2) หุ้นเติบโต (Growth Stocks)
หุ้นเติบโต เป็นหุ้นที่เกี่ยวกับอนาคต จะมีราคาแพง PE สูง เนื่องจาก คนคาดหวังในการเติบโต เนื่องจากมีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ค่อนข้างล้ำหน้า ดังนั้นเราจึงเห็นค่า PE สูง ๆ ในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีหรือกลุ่ม Healthcare ที่มีโปรเจกต์เปลี่ยนแปลงโลกในอนาคตต่าง ๆ เช่น Tesla มี P/E สูงถึง 367 เท่า เนื่องจากหลายคนมองว่าเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกมูลค่าตลาดมหาศาลรออยู่
แต่เราควรระวังเป็นอย่างมาก เนื่องจากหุ้นในกลุ่มนี้เล่นไปกับอนาคตจึงมีความคาดหวังที่ค่อนข้างสูงและอาจมีความไม่แน่นอนสูงเช่นกัน เช่น บริษัท A อาจวางแผนพัฒนา product ขึ้นมาซึ่งคาดการณ์ว่าจะเสร็จในปี 2025 แต่พอถึงเวลาจริง ๆ ทำไม่ได้อย่างที่กล่าวไว้ อาจส่งผลทำให้นักลงทุนผิดหวังและเทขายอย่างรุนแรง
ทำความรู้จัก Forward PE และ Trailing PE คืออะไร
📌 Forward PE คืออะไร
Forward PE หรือ PE ล่วงหน้า คือ อัตราส่วนทางการเงินที่เปรียบเทียบระหว่างราคาหุ้นต่อหุ้น (Price) เทียบกับกำไรต่อหุ้นคาดการณ์ล่วงหน้า 1 ปี เป็นการคำนวณเพื่อคาดการณ์ความสามารถในการเติบโตของบริษัทในอนาคต ช่วยให้นักลงทุนสามารถวิเคราะห์แนวโน้มกำไรและความคุ้มค่าในการลงทุนได้ง่ายขึ้น แต่มีจุดที่ควรระวัง คือ ตัวกำไรต่อหุ้นคาดการณ์ล่วงหน้า 1 ปี ที่นำมาใช้ในการคำนวณเป็นเพียงตัวเลขที่สมมติและคาดการณ์ขึ้นทำให้มีความแม่นยำน้อย นักลงทุนจะเห็น Forward PE ได้บ่อยตามบทวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์หรือตามการวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ครับ
📌 Trailing PE คืออะไร
Trailing PE หรือ PE ย้อนหลัง คือ อัตราส่วนทางการเงินที่เปรียบเทียบระหว่างราคาหุ้นต่อหุ้น (Price) เทียบกับกำไรต่อหุ้นคาดการณ์ย้อนหลัง 1 ปี ช่วยให้นักลงทุนสามารถวิเคราะห์ราคาหุ้นปัจจุบันมีความสมเหตุสมผลกับผลประกอบการของบริษัทในอดีตหรือไม่ ซึ่งถือว่าเป็นการวิเคราะห์ที่มีความแม่นยำกว่า Forward PE แต่ไม่สามารถวิเคราะห์ศักยภาพในการเติบโตของบริษัทในอนาคตได้ครับ
ข้อควรระวังเกี่ยวกับการใช้ค่า PE Ratio
เนื่องจาก PE Ratio มีข้อจำกัดตามที่ได้กล่าวไปในหัวข้อด้านบน และสิ่งที่นักลงทุนจะต้องระวังไว้อีกอย่าง คือ ค่า PE สูง ไม่ได้หมายความว่าหุ้นแพง และค่า PE ต่ำ ไม่ได้หมายความว่าหุ้นถูก นักลงทุนจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยอื่น ๆ ควบคู่ไปกับการใช้ PE Ratio วิเคราะห์หุ้น เนื่องจากมีปัจจัยภายนอกที่สามารถส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นและกำไรสุทธิของบริษัทได้เช่นกัน นอกจากนี้นักลงทุนไม่ควรที่จะใช้เพียงค่า PE Ratio ในการตัดสินใจลงทุนหุ้น ควรศึกษาและใช้เครื่องมือวิเคราะห์อื่น ๆ ควบคู่กับ PE Ratio เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุนและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตครับ
———————————— 🐣 ————————————
🔎 บทความที่เกี่ยวข้องกับ PE Ratio
มือใหม่อยากเริ่มเทรดหุ้นทำยังไง ? อ่านจบพร้อมเทรดแน่นอน! ฉบับ 2024
7 แอพพลิเคชันยอดนิยม เทรดหุ้น แอพไหนดี? สำหรับคนไทย ปี 2024
Market Cap คืออะไร? ดูได้จากตรงไหน และทำไมนักลงทุนจึงควรรู้ไว้!
เคล็ดลับ! 9 วิธีใช้ ChatGPT วิเคราะห์หุ้น ให้แม่นยำ 100%
———————————— 🐣 ————————————
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ PE Ratio
PE คำนวณยังไง
PE Ratio คำนวณจากราคาหุ้นต่อหุ้น (Price) เทียบกับ กำไรต่อหุ้น (EPS)
โดยใช้สูตรการคำนวณดังนี้ PE = Price / EPS
ค่า PE สูงดีไหม
ค่า PE สูงสามารถมองได้หลายกรณีทั้งด้านที่ดีและไม่ดีครับ หากค่า PE สูงหมายถึงราคาหุ้น ณช่วงเวลานั้นถือว่าแพงเมื่อเทียบกับผลกำไรที่บริษัททำได้ แต่ก็สามารถหมายถึงความคาดหวังของนักลงทุนต่อบริษัทอาจมีการเติบโตได้ในอนาคต ซึ่งอาจช่วยเพิ่มผลตอบแทนที่จะได้รับในอนาคตครับ
P/BV คืออะไร
P/BV (Price to Book Value Ratio) หมายถึง อัตราส่วนทางการเงินที่เปรียบเทียบ “ราคาตลาดของหุ้น กับ มูลค่าทางบัญชีของหุ้นสามัญตามงบการเงินล่าสุด” ซึ่งช่วยนักลงทุนทราบถึงราคาหุ้นปัจจุบันสูงเป็นกี่เท่าของมูลค่าทางบัญชีครับ
สรุปเกี่ยวกับ PE Ratio คืออะไร
กล่าวโดยสรุป การดูค่า PE Ratio คือ ตัวช่วยสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนสามารถเลือกหุ้นที่ดีได้ แต่อย่างไรก็ตามนักลงทุนต้องไม่ลืมที่จะศึกษาปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อเลือกหุ้นที่ดีที่สุดในการลงทุนของตนเอง เนื่องจากค่า PE Ratio เพียงอย่างเดียวไม่สามารถช่วยให้นักลงทุนสามารถวิเคราะห์และเลือกหุ้นได้ ทั้งในเรื่องของข้อจำกัดและปัจจัยภายนอกอื่น ๆ การใช้เครื่องมืออื่นวิเคราะห์ควบคู่ไปกับการใช้งาน PE Ratio จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์การลงทุนและลดความเสี่ยงจากการเลือกหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงได้ครับ
——————————————————————————————————————————————
อ่านบทความเพิ่มเติม: Knowledge
อ่านรีวิวโบรกเกอร์อื่น ๆ ได้ที่: Review Broker
อ่านรีวิว Exchange อื่น ๆ ได้ที่: Crypto Exchanges
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติม: News