สืบเนื่องมาจากการปิดตัวลงภายใน 48 ชม. ของธนาคารขนาดใหญ่เป็นอันดับ 16 ของสหรัฐ คือ Silicon Valley (SVB) ซึ่งเป็นธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับบริษัทสตาร์ทอัพหลายแห่งทั่วโลก ทำให้วิกฤตการเงินในครั้งนี้นับเป็นวิกฤตใหญ่ที่สุดในรอบ 15 ปี และเป็นครั้งแรกที่สหรัฐต้องเผชิญกับการขาดสภาพคล่องจากน้ำมือของตนเอง และที่แย่ไปกว่านั้นเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในขณะที่ “มหาอำนาจของโลกถูกแบ่งเป็น 2 ฝั่ง” นอกจากนี้ เงินสำรองของ USDC Stable Coin อันดับ 2 ของโลก ติดอยู่กับธนาคารมากกว่า 3.3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นอีกครั้งที่สถาบันการเงินขนาดใหญ่ของคริปโตได้ปิดตัวลง
———————————— 🐣 ————————————
Silicon Valley Bank (SVB) คือ อะไร ?
Silicon Valley Bank (SVB) เป็นธนาคารที่มีการร่วมทุนกับบริษัทสตาร์ทอัพมากที่สุดในโลก หรือที่เรียกว่า Venture Capital (VC) โดยธนาคารตั้งอยู่ในย่านที่เด่นรื่องเทคโนโลยีแห่งหนึ่งในโลก คือ Silicon Valley ในรัฐแคลิฟอร์เนีย หากใครยังไม่ทราบ ย่านนี้ถือเป็นจุดศูนย์กลางของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ของโลก และเป็นที่ตั้งของบริษัท Apple อีกด้วย นอกจากนี้ Stablecoin อันดับ 2 ของโลกอย่าง USDC มีเงินสำรองฝากไว้กับ SVB มากกว่า 3.3 พันล้านดอลลาร์ ทำให้การปิดตัวลงของ Silicon Valley ถูกมองว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก เนื่องจากสหรัฐไม่เคยมีปัญหาด้านสภาพคล่องของธนาคารที่ใหญ่ระดับนี้
Silicon Valley Bank (SVB) ล้มละลายได้อย่างไร ?
เหตุการณ์นี้เริ่มขึ้นจากการที่ Silicon Valley Bank ออกมาประกาศว่า ขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (Bond Yields) ออกไปกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ จนทำให้เกิดการขาดทุนกว่า 1.8 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งส่งผลให้ธนาคารต้องขายหุ้นเพิ่มอีก 2.25 พันล้านดอลลาร์ ข่าวนี้ได้จุดประเด็นให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจต่อสถาบันการเงินแห่งนี้ และหุ้นร่วงลงไปกว่า 60% ดังนั้น เราจะขอเรียงละดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นออกเป็นแต่ละข้อเพื่อความเข้าใจง่าย และย้ำว่า เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นภายใน 48 ชม.
FED ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง
เหตุการณ์นี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว สืบเนื่องมาจากเงินเฟ้อของสหรัฐได้ทะลุจุดสูงสุด ทำให้ FED ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และส่งผลให้ Bond Yields พุ่งสูงขึ้น ดังนั้น Silicon Valley Bank จึงได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจาก Silicon Valley Bank มีสินทรัพย์ค่อนข้างมากจากการค้ำประกันของบริษัทสตาร์ทอัพ ธนาคารจึงต้องระมัดระวังในการบริหาร และกระจายความเสี่ยงโดยนำเงินไปลงทุนกับ Bond Yields มากกว่าครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์ที่มี
ธนาคารขาดทุนจาก Bond Yields ได้อย่างไร ?
ตัวอย่างเช่น หาก Bond Yields ที่ออกมาเมื่อสามปีก่อนให้ดอกเบี้ย 1% เมื่อดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น Bond Yields ที่ออกมาใหม่ในปัจจุบันก็จะมีดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้น Bond Yields ในปีก่อน ๆ ก็ะไม่น่าสนใจอีกต่อไป และผู้ที่ครอบครองก็จะอยู่ในสถานะขาดทุน
อย่างไรก็ตาม Bond Yields เป็นการลงทุนระยะยาว โดยต้องถือให้ครบสัญญาที่กำหนด จากนั้นจะได้รับดอกเบี้ยและเงินต้นคืน ซึ่งถ้าผู้ถือครองไม่ทำการขายออกไปก็ยังถือว่า ไม่ขาดทุน แต่เหตุการณ์นี้ไม่เป็นเช่นนั้นไปทั้งหมดจึงเป็นที่มาของหัวข้อถัดไป
บริษัทสตาร์ทอัพกู้ยืมกับ Silicon Valley น้อยลง
สาเหตุนี้มาจากการการที่ลูกค้าได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของ FED ทำให้ดอกเบี้ยในการกู้ยืมสูงขึ้นไปด้วย บริษัทสตาร์ทอัพต่าง ๆ จึงเริ่มลดจำนวนการกู้ยืมจาก Silicon Valley Bank ลง และถอนทุนออกมาเพื่อรักษาสภาพคล่องของตนเอง แต่มันส่งผลให้ธนาคารเกิดการขาดสภาพคล่องแทน และการระดมทุนต้องหยุดชะงัก
Silicon Valley ขาย Bond Yields และหุ้น
อย่างที่กล่าวไปว่า Bond Yields ถ้าถือจนครบสัญญาก็จะไม่ขาดทุน แต่ด้วยการที่ธนาคารต้องรักษาสภาพคล่องและกระแสเงินสดไว้ ทำให้เกิดการขาย Bond Yield ออกไปจำนวนมากเมื่อวันที่ 8 โดยขาดทุนไปกว่า 1.8 พันล้านดอลลาร์ สำหรับหุ้นก็มีการประกาศขายเช่นกัน โดยปริมาณหุ้นที่ต้องกรขายออกรวมเป็นเงินกว่า 2.25 พันล้านดอลลาร์สำหรับหุ้น
หุ้น Silicon Valley ร่วงกว่า 60%
ข่าวขาย Bond Yields และการประกาศขายหุ้นเพื่อระดมทุน และชดเชยสภาพคล่องที่ขาดไป ทำให้หุ้น Silicon Valley ร่วงกว่า 60% และส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ตลอดจนมีลูกค้าแห่ถอนเงินจากธนาคารตามคำแนะนำของบริษัท VC
Silicon Valley หาทางระดมทุน
Silicon Valley Bank พยายามหาวิธีระดมทุน ตลอดจนประกาศขายบริษัท แต่ทุกขั้นตอนก็ได้หยุดชะงักในวันนั้น เนื่องจาก Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) สั่งปิดธนาคารและเข้าดูแลสินทรัพย์ทั้งหมด จนเกิดเป็นวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ Silicon Valley Bank และธนาคารในเครือถูกปรับลดอันดับเครดิตจากบริษัทจัดอันดับหลายแห่ง
บริษัทที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการล้มละลายของ Silicon Valley
จากปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ทำให้ธนาคารระดับโลกต้องปิดตัวลงภายใน 48 ชม. ถือเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของสหรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางระบบการเงินและอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เนื่องจากเป็นลูกค้าหลัก ในบทความนี้เราได้รวบรวม 5 บริษัทที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการล้มละลาย Silicon Valley Bank ส่วนใหญ่แล้วเป็นบริษัทสตาร์ทอัพแต่ก็มีอิทธิพลในอุตสาหกรรมนี้มากเช่นกัน
Circle (USDC)
Circle Internet Financial บริษัทด้านการเงิน ซึ่งเป็นผู้ออกเหรียญ Stablecoin อันดับสองของโลกอย่าง USDC ได้ออกมาประกาศว่า มีเงินติดอยู่ในธนาคารที่เป็นเงินสำรองของ USDC กว่า 3.3 พันล้านดอลลาร์ และได้เข้าเรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามารับผิดชอบกับเหตุการณ์นี้
นอกจากนี้ Circle กล่าวในทวีตว่า Silicon Valley Bank เป็นหนึ่งในธนาคารหกแห่งที่ใช้สำหรับเก็บ 25% ของเงินสำรอง USDC ที่ถือเป็นเงินสดทั้งหมด เหตุการณ์นี้ทำให้ตลาดคริปโตกลับมาโกลาหลครั้งใหญ่ เนื่องจาก USDC ได้หลุด peg 1:1 ดอลลาร์ไปชั่วขณะ แต่ก็สามารถฟื้นคืนได้
Roku
Roku เป็น Streaming Devices อันดับ 1 ของสหรัฐช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึง Streaming Video และเนื้อหาบนแพลตฟอร์มดัง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Netflix, Youtube, Disney+, ESPN+ หรือ Amazon Prime Video โดยราคาหุ้นได้พุ่งกระฉูดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของ Covid-19
โดยทาง Roku ได้ยื่นฟ้องเรียกเงินคืนกว่า 487 ล้านดอลลาร์ จาก Silicon Valley Bank ซึ่งเงินจำนวนนี้คิดเป็น 26% ของเงินทั้งหมดในบริษัท อีกทั้ง เงินฝากจำนวนนี้ยังไม่มีหลักประกัน และทาง Roku ก็ไม่มั่นใจว่าจะได้รับเงินคืนหรือไม่ นอกจากนี้ ทาง Roku ยังบอกอีกว่า ปัจจุบันมีเงินทุนหมุนเวียนอยู่ได้อย่างน้อย 12 เดือนเท่านั้น
BlockFi
Blockfi เป็นบริษัทที่รับฝากคริปโตและให้ดอกเบี้ยสูง โดยบริษัทจะนำเงินส่วนนั้นไปปลอยกู้ต่อ ซึ่งได้ยื่นล้มละลายไปแล้วในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ FTX และประสบปัญหาทางการเงินหลายเดือน อย่างไรก็ตาม Blockfi ยังมีเงินติดอยู่ใน Silicon Valley Bank กว่า 227 ล้านดอลลาร์ เงินจำนวนนี้อาจเป็นเงินที่รอชำระหนี้อยู่
Roblox
Roblox เป็นเกมออนไลน์รูปแบบใหม่ที่ให้ผู้เล่นสามารถสร้างเกมย่อย ๆ เองได้ โดยไม่จำเป็นต้องเขียนโปรแกรมเป็น จึงมีเกมเล็ก ๆ อยู่มากมายในโลกเสมือนของ Roblox ซึ่งบริษัทเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่มีเงินติดใน Silicon Valley Bank จำนวน 5% ของ 3 พันล้านดอลลาร์ หรือ 150 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม บริษัทออกมาประกาศว่า ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องมากขนาดนั้น ทำให้ลูกค้าไม่ตื่นตระหนกและรักษาราคาหุ้นไว้ได้
Axsome Therapeutics
Axsome Therapeutics เป็นบริษัทชีวเวชภัณฑ์ที่พัฒนา และจำหน่ายวิธีการรักษาสำหรับการรักษาระบบประสาทส่วนกลาง ออกมาประกาศว่า มีเงินติดอยู่ใน Silicon Valley Bank จำนวนมาก แต่ไม่กล่าวถึงจำนวนเงินทั้งหมด ทำให้หุ้นร่วงลงกว่า -5% ณ วันที่ประกาศ
Silicon Valley วิกฤตการเงินครั้งใหญ่ในสภาวะที่ “สหรัฐไม่ใช่มหาอำนาจเดียวของโลก”
Silicon Valley เป็นวิกฤตการเงินครั้งแรกในสภาวะที่ “สหรัฐไม่ใช่มหาอำนาจเดียวของโลก” หากใครติดตามข่าวเศรษฐกิจจะทราบว่า มีการรวมตัวของกลุ่มมหาอำนาจขั้วใหม่ที่เรียกว่า ‘BRICS’ ซึ่งย่อมาจากตัวอักษรขึ้นต้นของ 5 ประเทศ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ การรวมตัวในครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อลดการพึ่งพาดอลลาร์อย่างถาวร ล่าสุดระบบเปโตรดอลลาร์กำลังจะหายไป เนื่องจากจีนสามารถดีลซาอุดีอาระเบียและอิหร่านให้เป็นผู้ส่งออกน้ำมันหลักได้เรียบร้อยแล้ว และสกุลเงินหลักในการซื้อขายที่ใช้คือ หยวน นักลงทุนหลายคนจึงเทน้ำหนักไปที่ในอนาคตว่า เปโตรดอลลาร์จะกลายเป็นเปโตรหยวนในที่สุด ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริงความสำคัญของเงินดอลลาร์ในระบบเศรษฐกิจโลกจะหายไปกว่าครึ่ง ทำให้เงินดอลลาร์ทั้งหมดอาจถูกเทกลับไปที่สหรัฐ และนั่นอาจเกิดวิกฤตครั้งใหญ่มากขึ้นจริง ๆ
การที่เรายกประเด็นนี้ขึ้นมา เราอยากให้ทุกคนมองภาพรวมเศรษฐกิจแบบเจาะลึกลงไป เพราะนอกจากที่เราต้องติดตามสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว เราควรภาพย้อนไปอีกว่า เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นอย่างไร และมันมีเหตุการณ์อะไรบ้างที่อาจเกี่ยวข้องกันอีกด้วย อีกทั้ง วิกฤตการเงินรอบนี้ไม่ใช่แค่ Silicon Valley Bank ที่ล้มละลายแต่มีธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐที่ถูกสั่งปิดอีก 2 แห่ง ได้แก่ Silvergate Bank และ Signature Bank ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ดูแลสินทรัพย์เกี่ยวกับคริปโตเป็นหลัก และปัจจุบันธนาคาร 3 แห่งนี้ กำลังได้รับความช่วยเหลือจาก FED เหตุการณ์เหล่านี้สื่อถึงระบบการเงินที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงในอนาคต
เปิดอีกมุมมองของสาเหตุการล้มละลาย Silicon Valley
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ นักวิเคราะห์บางกลุ่มมองว่า การที่สหรัฐเกิดวิกฤตทางการเงินขึ้นหลายครั้ง อาจเกิดจากโครงสร้างที่ผิดรูปแบบตั้งแต่ทำมาตรการ QE หากมองย้อนกลับไป สหรัฐมีอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล ทำให้เกิดการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพมากขึ้น โดยทั่วไปบริษัทเหล่าจะมีการทำ Burn Cash เรียกลูกค้ามาใช้บริการ โดยทุ่มเงินค่าการตลาดพวกคูปองส่วนลดหรือการสะสมแต้ม เพื่อให้เป็นเจ้าตลาดให้ได้ แต่การทำเช่นนั้นบริษัทต้องยอมเผาสภาพคล่อง และใช้เงินจำนวนมหาศาล ปัจจุบันยังมีบริษัทสตาร์ทอัพจำนวนมากที่ขยายกิจการเติบโตแต่ไม่มีกำไร หากถามว่า ทำไมบริษัทเหล่านี้ถึงอยู่ได้ มันเป็นเพราะการอัดฉีดของ FED ที่มีมาตั้งแต่ปี 2008 หลังเกิด Hamburger Crisis
การทำมาตรการ QE ในช่วงนั้นทำให้นายทุนเข้าซื้อกิจการสตาร์ทอัพในช่วงที่มูลค่าการตลาดต่ำ และทำการขายในช่วงที่มูลการตลาดสูง นี่คือเกมการเงินของโลกที่ทำให้ตัวเลขในตลาดหุ้นมีการเคลื่อนไหวจากเงินอัดฉีดของ FED แต่ทราบไหมครับว่า FED สามารถพิมพ์เงินเพิ่มได้โดยที่ไม่ต้องมีสินทรัพย์หนุนหลัง ซึ่งประเทศอื่นทำไม่ได้ โดยทั่วไปแล้วการที่ประเทศจะพิมพ์เงินเพิ่มจำเป็นต้องมีสินทรัพย์ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เช่น ทองคำและพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐ แต่สหรัฐได้ออกจากระบบนี้มาตั้งแต่มีการก่อตั้ง FED ขึ้น
ประเด็นนี้ทำให้หลายคนมองว่า การกระทำของ FED คล้ายกับตอนที่เกิดเงินเฟ้อครั้งใหญ่ในสมัยก่อน ที่มีการเปลี่ยนสินทรัพย์หนุนหลังจากทองคำเป็นโลหะที่ไม่มีค่า ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศต่าง ๆ ยังใช้ดอลลาร์และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเป็นเงินสำรองของประเทศ แต่ในความเป็นจริงเงินส่วนนั้นถูกพิมพ์ออกมาโดยไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง จึงเกิดคำถามว่า ทำไมสหรัฐไม่ทำให้ถูกต้องตั้งแต่แรก และระบบเศรษฐกิจของโลกในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป หากมีมหาอำนาจขั้วใหม่เกิดขึ้น?
———————————— 🐣 ————————————
สรุป
Silicon Valley (SVB) เป็นธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับบริษัทสตาร์ทอัพมากที่สุดในโลก และโดนสั่งปิดภายใน 48 ชม. จากสาเหตุต่าง ๆ วิกฤตการเงินของสหรัฐในครั้งนี้ทำให้นักวิเคราะห์มองในมุมที่แตกต่างกันออกไป แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ทำให้เห็นว่า ในตลาดการเงินมีปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้น นักลงทุนไม่ควรใส่ไข่ทุกใบในตะกร้าเดียว ซึ่งเราควรกระจายความเสี่ยงไปในประเทศต่าง ๆ และที่สำคัญการติดตามข่าวสารสำคัญมากสำหรับการลงทุน แต่การหัดสังเกตและจับใจความเพื่อวิเคราะห์หาความเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ต่าง ๆ จะทำให้คุณสามารถมองลึกลงไปถึงต้นตอของมันได้จริง ๆ ครับ